ย่างเข้าฤดูร้อนเต็มตัวแล้ว ยานยนต์ “มติชน” มีข้อแนะนำการยืดอายุการใช้งานแอร์รถยนต์ ได้แก่
– เมื่อเปิดแอร์ หรือเครื่องยังเย็นอยู่ไม่ควรเปิดแอร์จนสุด เพราะควรให้คอมแอร์ได้วอร์มสักพักก่อนซัก 5 นาที ควรสตาร์ตเครื่องยนต์และให้เครื่องยนต์ถึงอุณหภูมิทำงาน พัดลมระบายความร้อนหม้อน้ำทำงานก่อน จึงเปิดสวิตช์ระบบปรับอากาศ
– ไม่ตั้งอุณหภูมิให้เย็นเกินไป เพราะจะทำให้คอมเพรสเซอร์ทำงานอยู่ตลอดเวลา
– เปิดสวิตช์พัดลมก่อนแล้วจึงกดสวิตช์ระบบปรับอากาศ (A/C) เปิดไปที่ความเร็วพัดลมสูงสุดระยะหนึ่งก่อน แล้วจึงลดลงไปยังความเร็วน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น
– หลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอม หรือสเปรย์ปรับอากาศ เพราะไอระเหยของสารเคมีจะถูกดูดเข้าไปสะสมตัวที่ครีบเล็กๆ ของคอยล์เย็น สารเหล่านี้มีคุณสมบัติดูดความชื้น ทำให้ฝุ่นผงจับตัวที่ครีบระบายความเย็น ความสามารถในการถ่ายเทความร้อนจะลดลง คอมเพรสเซอร์จะทำงานมากขึ้น ให้ศูนย์บริการทำความสะอาดคอยล์เย็นเป็นครั้งคราวเมื่อรู้สึกว่าประสิทธิภาพในการทำความเย็นของระบบปรับอากาศลดลง
– ไม่ควรนำน้ำหอมชนิดที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบไปเสียบไว้หน้าช่องแอร์ เพราะจะทำให้ตู้แอร์ผุกร่อนเร็วขึ้น
– ก่อนถึงจุดหมายปลายทางประมาณ 15 นาที ปิดสวิตช์ระบบปรับอากาศ (A/C) เปิดพัดลมไปที่ความเร็วสูงสุด เพื่อลดการทำงานคอมเพรสเซอร์และไล่ความชื้นออกจากคอยล์เย็น
– เมื่อนำรถจอดตากแดดเป็นเวลานานๆ ก่อนใช้รถควรเปิดลมเปล่าให้แรงสุด (ปิดสวิตช์ A/C) เพื่อไล่ความร้อนที่มีอยู่ในระบบแอร์ออกเสียก่อน แล้วจึงค่อยเปิดน้ำยาแอร์ (เปิดสวิตช์ A/C)
– ก่อนจอดรถทิ้งไว้นานๆ เช่น จอดข้ามคืน ควรเปิดลมเปล่าให้แรงสุด (ปิดสวิตช์ A/C) ประมาณ 5 นาที เพื่อไล่ความชื้น ไล่น้ำ ที่ค้างอยู่ในตู้แอร์ออกก่อน เพราะตู้แอร์ทำจากอะลูมิเนียมจะเกิดการผุกร่อนได้ง่าย และจะทำให้ตู้แอร์ลดการเหม็นอับอีกด้วย
– จงจำไว้ว่า ระบบแอร์เป็นระบบปิด ดังนั้น เมื่อรถต้องเติมน้ำยาแอร์บ่อยๆ แสดงว่าเกิดการรั่วของระบบแอร์แล้ว
– ไม่ควรเปิดกระจกขับรถบ่อย เพราะจะทำให้ฝุ่นละอองจากภายนอกเข้ามาอุดตันในตู้แอร์ได้เร็วยิ่งขึ้น
– เมื่อแอร์ไม่เย็น (กรณีเปิดน้ำยาแอร์แล้ว เปิดสวิตช์ A/C แล้ว) แต่ยังไม่เย็น ให้รีบปิดน้ำยาแอร์หรือสวิตช์ A/C ทันที เพราะอย่างน้อยๆ ถ้าเกิดการรั่วในระบบ น้ำยาแอร์และน้ำมันคอมเพรสเซอร์จะมีน้อยมากในระบบ จะทำให้คอมเพรสเซอร์พังมากขึ้นกว่าเดิม และควรนำรถไปเช็กให้เร็วที่สุด แต่กรณีนี้ใช้ลมเปล่าก่อนก็ได้
– ควรล้างตู้แอร์ทุกๆ 2 ปี หรือถ้าใครเปิดกระจกขับรถบ่อย ให้ล้างทุกปี หรือตามเห็นสมควร
– เมื่อมีเหตุจำเป็นที่ต้องเปิดกระจกขับรถ ควรปิดช่องแอร์บริเวณคอนโซลหรือจุดที่แอร์ออกให้หมดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ฝุ่นเข้าไปในระบบแอร์น้อยที่สุด
ที่มา : นสพ.มติชน